เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก ได้มอบหมายให้ ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ อาจารย์ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นายมูฮำหมัด รักไทรทอง เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานการต่างประเทศนางสาววิลาสินี ลือวิเศษไพบูลย์ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ นายอเล็กซานเดอร์ ลิม (Alexander Lim) ที่ปรึกษาทูตฝ่ายการเมือง และนางสาว ฟีโอนา ลีอง (Fiona Leong) เลขานุการโทฝ่ายการเมือง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือความร่วมมือทางการศึกษา ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย
ในช่วงต้นของการหารือ ดร.บัณฑิตฯ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ เพื่อติดต่อประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ อาทิ ความร่วมมือด้านโครงการวิจัย โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ ที่มุ่งเน้นและพัฒนาความเป็นนานาชาติ
ขณะเดียวกัน อาจารย์ชนิดาภาฯ กล่าวเสริมถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องการเห็นกรอบความร่วมมือทางการศึกษาและงานวิชาการ รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและอยากให้มีนักศึกษาจากประเทศสิงคโปร์เข้าศึกษาในมหาวิทยลัยเกริกด้วย ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนโดยสถานทูตฯ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกริกยังมีวิทยเขตในประเทศสิงคโปร์ คือ สถาบันการจัดการนันยาง Nanyang Institute of Menagement (NIM) ที่เป็นผู้ให้บริการด้านการศึกษาระดับแนวหน้าในภูมิภาค
ในขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ฯ กล่าวว่า เราส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านโครงการนักศึกษาฝึกงานและโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โดยแบ่งกรอบความร่วมมือออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่สามารถประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ได้ ถึงแม้สิงคโปร์จะมีจำนวนมหาวิทยาลัยไม่มากนัก แต่ถือเป็นข้อได้เปรียบในการติดต่อประสานกับมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายร่วมกันเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นแนวทางการขยายกรอบความร่วมมือทางวิชาการและการศึกษาสู่ระดับสากล อีกทั้ง บรรดาคณาจารย์มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์สามารถช่วยยกระดับทักษะด้านภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาได้
การหารือในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับการศึกษาและงานวิชาการของสองประเทศในอนาคต