เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 1217 สำนักงานการต่างประเทศ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำโดย ศ.ดร. จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ดร.ฮัมบาลี เจะมะ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ดร.บัณฑิต อารอมัน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ รศ.ดร. พรพรรณ จันทโรนานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม อาจารย์ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ อาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต อาจารย์กัษมารา ศรสวรรค์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ นางสาว อมีร่า บุญมาเลิศ เลขานุการวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และนายมูฮำหมัด รักไทรทอง เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานการต่างประเทศ ร่วมให้การต้อนรับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Universitas Islam Negeri Syarif Hidayatullah Jakarta (UIN Jakarta) ประเทศอินโดนีเซีย โดยมี Prof.Dr.Euis Amalia เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย Dr. Reni และ Mr.Mochamad Fathoni นักวิจัย
การเดินทางเยือนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริกและนำเสนองานวิจัยเรื่อง “Fostering a Unified Halal Economy: Interconnecting Halal Business Sectors with Islamic Banking and Islamic Social Finance across Indonesia, Malaysia and Thailand”
ในช่วงต้นของการประชุม ดร.บัณฑิตฯ ได้นำเสนอภาพรวมของมหาวิทยาลัยเกริกที่ประกอบไปด้วยหลากหลายคณะและวิทยาลัย โดยเน้นไปที่วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ที่มีหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลามในหลายสาขาวิชาและหลายระดับการศึกษาตั้งแต่ ระดับปริญญาตรี ถึง ระดับปริญญาเอก ซึ่งตรงกับเป้าประสงค์ของคณะจาก UIN ที่มาเยือน
ในขณะที่ Prof.Dr.Euis ได้แนะนำมหาวิทยาลัย UIN Jakarta เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยอิสลามชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา มีพันธกิจหลักเพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาอิสลามในอินโดนีเซียให้สนองต่อความต้องการของการศึกษาระดับอุดมศึกษาอิสลามสมัยใหม่
ขณะที่ รศ.ดร. พรพรรณฯ ได้กล่าวถึงความน่าสนใจของกระบวนการฮาลาลที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการอุปโภคและบริโภคของผู้นับถือศาสนาอิสลาม การร่วมประชุมระหว่างนักวิชาการจากสองสถาบันย่อมเป็นผลดีในภาพรวม ขณะเดียวกัน อาจารย์ ดร.สมีธ กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยมีธนาคารอิสลามและในมหาวิทยาลัยเกริกก็มีหลักสูตรเกี่ยวกับการเงินอิสลาม ซึ่งการที่ทั้งสองสถาบันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในวันนี้ย่อมเป็นผลดีของทั้งสองฝ่ายในการสานความร่วมมือในอนาคตนอกจากนี้ อาจารย์กัษมาราฯ ยังเสริมข้อมูลอีกว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องฮาลาล ทางมหาวิทยาลัยเกริกมีนักวิชาการหลายท่านที่มีความสันทัดและเชี่ยวชาญ และอาจได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนในประเด็นเหล่านี้อีก
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนหัวข้อการวิจัยในประเด็น กระบวนการทางฮาลาลในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย หลักการกฎหมายอิสลามในการดำรงชีวิตและบทความสาธารณะทางวิชาการว่าด้วยเรื่องฮาลาล ตลอดจนกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนการสอนในระดับนักวิชาการระหว่างสองมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ในช่วงท้ายของการประชุม ศ.ดร. จรัญฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจฮาลาลแบบครบวงจรในมิติระหว่างประเทศว่า เป็นพันธกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในขณะที่ ดร.ฮัมบาลีฯ กล่าวถึงโอกาสในการขยายกรอบความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกและมหาวิทยาลัย UIN ให้เกิดเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน อาจารย์ชนิดาภาฯ กล่าวถึงกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองสถาบันเคยลงนาม บันทึกความเข้าใจร่วมกันในช่วงที่ผ่านมา ย่อมนำมาซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในไม่ช้านี้
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมกรอบความร่วมมือทางวิชาการและการศึกษา ในมิติของการจัดสัมมนาวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งตรงกับพันธกิจมหาวิทยาลัยเกริก ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริการวิชาการที่ทันสมัยเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการและสังคม
อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างคณาจารย์จากสองสถาบัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในกรอบความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป.
รายงานโดย มูฮำหมัด รักไทรทอง
สำนักงานการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก